วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557

กำเนิดภาคีสัญญาพันธไมตรี v.4

      

ธงชาติออสเตรียและอิตาลีกับการกลับมาปรองดรองกันอีกครั้ง

      …ต่อ กรณีการทำสนธิสัญญานี้มีเรื่องที่น่าสนใจแทรกอยู่ กล่าวคือเมื่อตอนที่เกิดสัญญาพันธไมตรีสองประเทศ ค.. 1879 เชื่อมความสัมพันธ์สองประเทศคือเยอรมนนีและออสเตรีย อันเป็นสนธิสัญญาลับนั้น ปรากฏว่าเมื่อถึงปี 1882 ก็มีการเจรจาขยายให้สนธิสัญญาฉบับนี้ให้กลายเป็นสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรมิตรขึ้นมา โดยไตรมิตรนี้ก็คือการเพิ่มหรือยอมรับเอาอิตาลีเข้ามาร่วมลงนามอีกประเทศหนึ่งนั่นเอง โดยมีการลงนามกันในเดือนพฤษภาคม 1882**
    
      เงื่อนไขอย่างย่อของสัญญามีดังนี้
   1.ในกรณีที่อิตาลีถูกฝรั่งเศสโจมตี เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี จะต้องช่วยอิตาลีและในกรณีที่เยอรมนีถูกฝรั่งเศสโจมตีอิตาลีจะต้องช่วยเยอรมนี
   
   2.ในกรณีที่ภาคีหนึ่งหรือสองประเทศแห่งสัญญานี้ถูกประเทศนอกภาคีประเทศใดก็ตามรวมสองประเทศขึ้นไปทำการโจมตี ภาคีหนึ่งหรือสองประเทศที่เหลืออยู่ตามสัญญานี้จะต้องเข้าช่วย
     
     สัญญาลับนี้มีอายุ 5 ปี มีการต่ออายุและเปลี่ยนแปลงแก้ไขในบางประเด็นในปี 1887 และมีการต่ออายุเป็นครั้งคราวเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 สัญญานี้จึงได้เลิกร้างไป โดยอิตาลีปฏิเสธไม่ยอมร่วมกับเยอรมนีและออสเตรีย เพราะอิตาลีอ้างว่าฝรั่งเศสไม่ได้เป็นฝ่ายรุกราน

   
แผนที่แสดงที่ตั้งของอิตาลีและตูนิส ว่าใกล้กันแค่ไหน

      **การรวมเอาอิตาลีเข้ามาเป็นอีกหนึ่งประเทศนั้น ในเวลานั้นถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกมากทั้งนี้เพราะอิตาลีกับออสเตรียนั้นนับเป็นคู่แค้นกันมาอย่างยาวนานในหน้าประวัติศาสตร์ไม่น่าจะสามารถรวมเข้ากันได้ แต่ก็เกิดขึ้นมาแล้ว การที่สามารถเข้าร่วมเป็นไตรมิตรได้นั้นก็เพราะเหตุผลที่ซับซ้อนซึ่งพอจะสรุปอย่งาย่อได้ดังนี้ ในการประชุมคองเกรสแห่งเบอร์ลิน ค.. 1878 นั้นฝรั่งเศสโกรธว่าอังกฤษได้เกาะไซปรัสไป ทำให้บิสมาร์คและรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษต้องเอาใจฝรั่งเศสโดยการสนับสนุนให้ฝรั่งเศสยึดเอาตูนิสซึ่งเวลานั้นอยู่ใต้อำนาจตุรกี เหตุการณ์นี้ทำให้อิตาลีตกใจอย่างมาก ทั้งนี้เพราะตูนิสตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของทวีปแอฟริกาตรงข้ามกับอิตาลีพอดี ดังนั้นหากฝ่ายที่ครองตูนิสไม่พอใจอิตาลีก็สามารถโจมตีอิตาลีได้สะดวกทันที ดังนั้นเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองตูนิสอิตาลีจึงหันเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับเยอรมนีทันที บิสมาร์คจึงฉวยโอกาสนี้แนะให้อิตาลีปรองดองกับออสเตรีย ทำให้เกิดสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรมิตรขึ้นในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น