วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิกฤตการณ์ทางการเมือง และสงครามก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอน วิกฤตการณ์ซาราเจโว

วิกฤตการณ์ซาราเจโว
    

      
      สงครามบนคาบสมุทรบอลข่านระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และ เซอร์เบียนั้นถูกพิจารณาว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยอิทธิพลของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้เสื่อมถอยและการเจริญเติบโตของลัทธิรวมเชื้อชาติสลาฟและความเจริญขึ้นของลัทธิชาตินิยมภายในประเทศในประจวบกับความเจริญเติบโตของเซอร์เบีย ซึ่งความรู้สึกต่อต้านชาวออสเตรียอาจจะมีความรุนแรงมากที่สุดจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีนั้นได้ยึดครองแคว้นบอสเนีย-เฮอร์เชโกวินาของจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งมีจำนวนประชากรชาวเซิร์บเป็นจำนวนมากในปี 1878 และจากนั้นก็ได้ถูกยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิของออสเตรีย-ฮังการีในปี 1908 ความรู้สึกรักชาติที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับที่จักรวรรดิออตโตมัน รัสเซียนั้นได้สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อการรวมเชื้อชาติสลาฟ และกระตุ้นโดยมนุษยธรรมและความจงรักภักดีต่อศาสนาและการแข่งขันกับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
  
กัฟริโล ปรินชิป ลอบปลงพระชนม์
   
      ในวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 1914 เวลาก่อนเที่ยงเพียงเล็กน้อย อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ออสเตรีย-อังการี พร้อมด้วยพระชายา ทรงพระนามโซฟี ในขณะที่ทรงประทับรถม้าไปตามท้องถนนแห่งนครซาราเจโวในแคว้นบอสเนีย อันเป็นการเสด็จเยือนแคว้นนั้นอย่างเป็นทางการ ได้มีชายหนุ่มชาวบอสเนีย ชื่อกัฟริโล ปรินชิป ใช้ปืนเป็นอาวุธ แหวกฝูงชนที่กำลังเฝ้าเสด็จ สาดกระสุนสองนัดเข้าใส่พระวรกาย สิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์
    

      จำต้องรู้ก่อนว่าในสมัยนั้นบอสเนียเป็นแคว้นหนึ่งในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ขึ้นมาแล้วในอีก 6 สัปดาห์ต่อมาก็ได้เกิดการรบกันกระทั่งขยายพื้นที่ออกเป็นสงครามโลกในที่สุด
     
กัฟริโล ปรินชิปขณะถูกควบคุมตัว
      กัฟริโล ปรินชิป เป็นสมาชิกของสมาคมลับที่ชื่อ แบล็กแฮนด์ อันเป็นสาขาของสมาคมลับ แพน-เซิร์บ ซึ่งมีความรู้สึกด้านชาตินิยมสูงและรุนแรงเกลียดชังชาวออสเตรีย และอยากจะแยกตนเองออกเป็นเอกราชจากการปกครองของออสเตรีย และรวมชนเผ่าสลาฟเข้าเป็นประเทศเดียวกันภายใต้การปกครองของชาวสลาฟเอง
    
      เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาเช่นนั้น รัฐบาลแห่งจักรพรรดิของออสเตรีย-ฮังการี ถือว่ารัฐบาลเซอร์เบียได้ปล่อยปละละเลยให้ใรการมั่วสุมสมคบคิดกันต่อต้านรัฐบาลแห่งพระเจ้าจักรพรรดิจนกระทั่งมีผลให้เกิดคดีฆาตกรรมขึ้นมา ดังนั้นจักรพรรดิแห่งออสเตรีย-ฮังการีจึงถือเอาโอกาสนั้นในการเข้าไปย้ำยีเซอร์เบียรวมไปถึงการปราบปรามพวกสลาฟที่คอยรบกวนอยู่เสมอ พร้อมประกาศว่าเซอร์เบียจะต้องรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด
     
      การประกาศออกมาเช่นนั้นของออสเตรีย-ฮังการี ในภาวะที่โลกหรือยุโรปในเวลานั้นต่างหันปากกระบอกปืนของกลุ่มเข้าหาและเตรียมพร้อมกันอยู่เสมอตกตะลึงและพร้อมที่จะยกอาวุธขึ้นมาประทับบ่าทันที
      
      กล่าวกันว่าจากการสอบสวนและดำเนินคดีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นสรุปกันว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลออสเตรียไม่มีพยานหลักฐานอันใดที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐบาลเซอร์เบียได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการลอบปลงพระชนม์ กระนั้นเคานต์แบคโทลด์ รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรียในเวลานั้นก็ได้แสร้งทำเสมือนหนึ่งว่าออสเตรียมีหลักฐานที่เอาผิดแก่เซอร์เบียและเริ่มลงมือตระเตรียมดำเนินแผนการขั้นต่อไปโดยถามเยอรมนีถึงความช่วยเหลือที่เยอรมนีเคยสัญญาว่าจะให้แก่ออสเตรีย
     
      เยอรมนีตอบว่า ออสเตรียจะปฏิบัติประการใดต่อเซอร์เบียก็ได้ตามแต่ปรารถนาและเห็นสมควร และอาจจะรับเอาว่าเยอรมนีสนับสนุนเพราะเยอรมนีเป็นคู่สัญญาร่วมกัน เมื่อได้รับคำตอบเช่นนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ออสเตรียอย่างเต็มที่และโดยตรงนั้นเอง
    
      ดังนั้นเคานต์แบคโทรล์ จึงได้เชิญชวนให้จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟและเคานต์ติสชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของฮังการีเห็นว่าถ้าออสเตรียไม่รีบจัดการเรื่องการลอบปลงพระชนม์แล้วออสเตรียก็จะกลายเป็นเพียงแค่เหยื่อของศัตรูเท่านั้น
     
      การดำเนินการของออสเตรียเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปกำลังเงียบเสียงและเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ ก็ปรากฏว่ารุสเซียไม่อาจที่จะนั่งมองและสงวนท่าที่เอาไว้ได้ รุสเซียในเวลานั้นซึ่งก็ติดตามการเคลื่อนไหวของออสเตรียอย่างไม่ละสายตาก็ได้ออกประกาศเตือนออสเตรียว่ารุสเซียจะไม่ยอมนิ่งดูดายให้ออสเตรียรังแกเซอร์เบียได้อย่างแน่นอน
    
      เป็นอันว่าเมื่อประกาศนี้ถูกแถลงออกไปแล้วเหตุการณ์จากที่เป็นแค่เรื่องลอบปลงพระชนม์ก็เริ่มขยายเป็นเรื่องปัญหาทางการเมืองของโลกขึ้นมาทันใดออสเตรียนั้นได้เยอรมนีเปิดไฟเขียวให้แล้วแต่กลับต้องมาเผชิญกับไฟแดงห้ามจากรุสเซียซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจในเวลานั้นด้วยเช่นกัน
     
      แต่ดูเหมือนออสเตรียกำลังเลือดขึ้นหน้าไปแล้ว ในเวลาต่อมาออสเตรียจึงเดินหน้ายื่นคำขาดต่อเซอร์เบียโดยมีข้อความสำคัญในคำขาดที่ต้องให้ตอบมาภายในเวลา 48 ชั่วโมง สรุปได้ว่า เซอร์เบียจะต้องยินยอมปราบปรามการพิมพ์ สมาคมต่างๆ ที่บงการต่อต้านราชวงศ์ที่ครองจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และให้กำจัดการอบรมสั่งสอนให้ชิงชังออสเตรียซึ่งดำเนินอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ให้สิ้นซาก ให้ปลดบุคคลที่รัฐบาลออสเตรียไม่ปรารถนาออกจากตำแหน่งข้าราชการฝ่ายทหาร และให้เซอร์เบียยินยอมให้ผู้แทนออสเตรียเข้าไปทำการปราบปรามทำลายล้างขบวนการต่อต้านออสเตรีย รวมทั้งให้จับกุมผู้ร่วมคบคิด กันวางแผนเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน
       
      แล้วเวลาก็ดำเนินไป ก่อนที่จะถึงเส้นตายที่กำหนด เซอร์เบียก็ได้ใช่คำตอบยอมรับเงื่อนไขที่ออสเตรียเสนอมาเกือบทุกข้อ ส่วนที่เหลือจากนั้นเซอร์เบียก็ขอให้เสนอเรื่องต่อศาลโลก ณ กรุงเฮกเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งคำตอบของเซอร์เบียที่ออกมานี้เรียกว่าทำให้ทุกฝ่ายสามารถถอนหายใจได้ระยะหนึ่งที่สำคัญมันสร้างความประทับใจให้กับบรรดาประเทศอื่นๆ ที่เฝ้าคอยจับตาเองอยู่และเริ่มเข้ามาเห็นใจเซอร์เบียมากยิ่งขึ้น
     
      แต่ปรากฏว่าออสเตรียกลับปฏิเสธคำตอบของเซอร์เบียอย่างทันทีทันใดโดยที่ทันทีที่เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำเซอร์เบียได้อ่านคำตอบเสร็จสิ้นลงแล้วเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง เขาก็เดินทางออกจากกรุงเบลเกรดนครหลวงของเซอร์เบียและประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเซอร์เบียทันที
         
      เรียกว่าประเทศต่างๆ ต้องตกใจกับปฏิกิริยาของออสเตรียขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่คิดว่าเรื่องนี้จะสามารถจบลงได้อย่างง่ายดายกลับกลายเป็นไม่เข้าใจและมึนงงต่อท่าทีที่เกิดขึ้นมาครั้งใหม่ของออสเตรีย กล่าวกันว่าบรรดานานาชาติทั้งหลายที่เกี่ยวข้องและจับตามองอยู่ต่างตกใจเป็นการใหญ่ เพราะต่างฝ่ายต่างคิดเหมือนกันว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดสงครามที่หลายๆ ประเทศสำคัญต้องหันมาทำการรบกันเป็นการใหญ่ขึ้นมาแน่ ดังนั้นบรรดาประเทศเหล่านี้จึงไม่อาจนิ่งดูดายได้ ต่างพากันยื่นข้อเสนอเพื่อปัดเป่าสงครามอันอาจจะเกิดขึ้นมาได้นี้
ภาพ:พาดหัวข่าวของวันที่ 28 กรกฏาคม 1914
      
      โดยลอร์ดเกรย ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในเวลานั้น  ได้เร่งเร้าให้มีการเปิดประชุมในระดับเอกอัครราชทูตของประเทศที่เกี่ยวข้องขึ้นมาในวันที่ 28 กรกฏาคม แต่ปรากฏว่าเยอรมนีซึ่งเวลานั้นอยากจะเห็นเซอร์เบียถูกลงโทษได้ขอให้ประเทศต่างๆ ใช้ความพยายามจำกัดเขตสงครามโดยจะให้รบกันเพียงออสเตรียและเซอร์เบียเท่านั้น ทางออกนี้ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเช่นกัน กระนั้นรุสเซียกลับมองตรงข้ามกัน กล่าวคือรุสเซียมองว่าถ้าทำเข่นนั้นก็มีค่าเท่ากับพวกที่เกี่ยวข้องได้แต่พากันตีวงนั่งดูออสเตรียเข้าบดขยี้เซอร์เบียเล่นกันอย่างสนุกสนานเท่านั้นเอง ดังนั้นการเจรจาระหว่างประเทศจึงไม่อาจนำมาใช้แก้ปัญหาในครั้งนั้นได้
       
      และแล้วในวันที่ 28 กรกฏาคม 1914 ออสเตรียประกาศสงครามกับเซอร์เบีย
       
กองทัพรุสเซีย 1914 (Army Russian)
      เมื่อออสเตรียกระหายสงครามเช่นนั้น รุสเซีย ก็มิอาจนิ่งนอนใจได้ ในวันรุ่งขึ้นรุสเซียก็ได้ประกาศระดมพลของตัวเองทันทีทันใดเช่นกัน
     
      สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นมา พร้อมกับที่ทางเยอรมนีเองก็ดูเหมือนจะเริ่มมองเห็นและเข้าใจถึงความสูญเสียที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ดดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ที่มีอยู่ในภูมิภาค ดังนั้นในเวลานั้นเองพระเจ้าไกเซอร์ของเยอรมนีก็ได้ตรัสสั่งให้อัครมหาเสนาบดีของพระองค์ส่งวิทยุด่วนไปยังกรุงเวียนนา เพื่อพยายามยับยั้งออสเตรีย พร้อมกันได้ต่อสายตรงไปขอร้องพระเจ้าชาร์แห่งรุสเซียให้ช่วยพยายามธำรงสันติภาพเอาไว้ให้ได้ก่อน

    
      แต่ปรากฏว่า ความพยายามนั้นสายเกินไปเสียแล้ว ทั้งนี้เพราะรุสเซียโดยพระเจ้าซาร์ได้สั่งหยุดการระดมพลตามคำขอด่วนของพระเจ้าไกเซอร์ก็จริงแต่เป็นการระงับเอาไว้เพียงวันเดียว ทั้งนี้เพราะบรรดาคณะรัฐมนตรีของพระองค์ต่างมองเห็นว่า รุสเซียมัวแต่ชักช้าอยู่อาจจะส่งผลให้รุสเซียต้องเสียหายอย่างมหาศาลในเวลาต่อมาดังนั้นรัสเซียจึงเดินหน้าระดมพลต่อไป ---

      นี้คือเรื่องราววิกฤตการณ์ทั้งหมด ก่อนที่จะระเบิดกลายมาเป็นสงครามที่มีวงกว้าง และรุนแรงที่สุดเป็นครั้งแรกของโลก ตอนหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ครับ

ขอขอบคุณเจ้าของความรู้ คุณวีระชัย โชคมุกดา และผู้อ่านทุกคนมากๆครับ ที่ติดตามมาจนถึงตอนนี้ครับ สวัสดี...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น