วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิกฤตการเมืองและสงครามก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา หรือวิกฤตบอลข่าน

วิกฤตการเมืองและสงครามก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนการผนวกบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา หรือวิกฤตการณ์บอลข่านในปี 1908
 
ภาพ:แสดงที่ตั้งของแต่ละประเทศบริเวณขายสมุทรบอลข่านที่มีข้อพิพาทกัน
    
      หากจะกล่าวถึงดินแดนที่น่าจะเป็นปัญหามากที่สุดในช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วคาบสมุทรบอลข่านน่าจะเป็นดินแดนส่วนที่ว่านี้ ด้วยว่าที่ตั้งที่อยู่ระหว่างมหาอำนาจและความเคลื่อนไหวไปจนถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนที่หลากหลาย ทำให้เกิดเป็นแผ่นดินส่วนที่สร้างปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
     
      ตามข้อตกลงในที่ประชุมคองเกรสแห่งเบอร์ลิน ค.. 1878 บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา ต้องอยู่ภายใต้การตรวจตราดูแลรักษาของออสเตรีย-ฮังการี ทั้งที่แท้จริงแล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างยอมรับว่าดินแดนทั้งสองรัฐนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออโตมัน แต่ก็เป็นเพียงในนามเท่านั้น
ภาพ:แสดงที่ตั้งขอช่องแคบดาร์คดาเนลส์และบอสฟอรัส
     
      ครั้นเมื่อถึงปี 1908 รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของออสเตรียและรัฐมนตรีการต่างประเทศของรุสเซียได้ทำความตกลงกันว่า ให้ออสเตรียผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวินาเข้าเป็นผืนแผ่นดินเดียวกับออสเตรียได้ โดยมีข้อแม้ว่าออสเตรียจะต้องยอมเปิดช่องแคบดาร์คดาเนลส์และบอสฟอรัสให้เรือรบรุสเซีย ผ่านเข้าออกได้ ซึ่งต่อมาออสเตรียก็รีบเข้ามายึดแผ่นดินทั้งสองมณฑลหรือสองรัฐนั้นเข้าเป็นของตนเองอย่างเงียบๆ โดยที่รุสเซียกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเปิดช่องแคบทั้งสองให้เรือรบผ่านไม่ใช่หน้าที่ของออสเตรียแต่ขึ้นอยู่กับอังกฤษที่ยึดถือนโยบายเดิมของตนเองตลอดมาว่าจะต้องปิดช่องแคบอยู่ตลอดเวลา
  
ประชาชนซาราเยโวกำลังอ่านประกาศถึงการเข้าผนวกในปี 1908
  
      การที่ออสเตรียเข้าควบรวมสองมณฑลนั้นทำให้เซอร์เบียโกรธแค้นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะเซอร์เบียนั้นต้องการรวมชาติสลาฟของตนเองอยู่แล้วและประชากรส่วนใหญ่ในมณฑลทั้งสองนี้ก็เป็นชาวสลาฟ เซอร์เบียหวังเอาไว้ว่าหากสามารถรวมประเทศได้แล้วก็จะส่งผลให้เซอร์เบียกลายเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม และอาจเป็นมหาอาณาจักรเซอร์เบียของชาวสลาฟเลยทีเดียว
    
      ผลของความโกรธในครั้งนี้ทำให้ออสเตรีย-ฮังการี กับเซอร์เบียต้องตั้งประจันหน้ากันจนเจียนจะเกิดการปะทะกันเป็นเวลาหลายเดือน แต่หลังจากติดต่อและเจรจาพันธมิตรกันแล้วสุดท้ายเซอร์เบียก็จำต้องผ่อนท่าทีลงโดยเริ่มจากเซอร์เบียนั้นคาดว่าหากเกิดสงครามขึ้นมาแล้วรุสเซียจะต้องเข้าช่วยเหลือตนเอง ทั้งนี้เพราะรุสเซียสนับสนุนนโยบายรวมชาติสลาฟมาแต่ต้น
    
      แต่ปรากฏว่าด้วยปัญหาของรุสเซียที่มีอยู่ทำให้นอกจากไม่พร้อมที่จะทำสงครามแล้ว รุสเซียยังเชื่อว่าเยอรมนีก็จะต้องเข้าข้างออสเตรีย-ฮังการีอย่างแน่นอน ดังนั้นรุสเซียจึงจำต้องขอยอมจำนนก่อน สุดท้ายผลของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ ออสเตรีย-ฮังการี และเยอรมนีได้รับชัยชนะทางการทูต
     
      และยิ่งสำหรับออสเตรียแล้วไม่เฉพาะแค่ชัยชนะทางการทูตเท่านั้น แต่ยังได้ผนวกเอามณฑลใหญ่ของตุรกีสองมณฑลอีกด้วย ออสเตรียรู้สึกถึงชัยชนะสามารถกอบกู้ศักดิ์ศรีของราชวงศ์ฮับสบูร์กไว้ได้ ส่วนเซอร์เบียและรุสเซียกลับเสียหน้า ชัยชนะและพ่ายแพ้ของออสเตรียต่อเซอร์เบีย ครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความคั่งแค้นไม่อาจสูญไปได้ กลับแปลงรูปลงสู่ใต้ดินก่อเกิดสมาคมลับต่างๆ และมีการแพร่โฆษณาเพื่อการปฏิวัติต่อออสเตรียละคบคิดกันอย่างลับๆ เพื่อทำลายล้างออสเตรียต่อไป

     
      ใช่เพียงเท่านั้นการกระทำของออสเตรียยังทำให้เสียพันธมิตรของตนเองด้วย โดยรุสเซียได้เกิดความไม่พอใจและเคียดแค้นเยอรมนีอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าการดำเนินการของออสเตรียนั้นมีเยอรมนีเห็นชอบและหนุนหลังเสมอมา ทำให้รุสเซียเริ่มหันเข้าหาฝรั่งเศสและอังกฤษมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหวังว่าวันข้างหน้าบรรดาประเทศฉันทไมตรีไตรมิตร(Triple entente) จะสามารถบีบออสเตรียไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับชาวสลาฟทางคาบสมุทรบอลข่านได้อีก---

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น