วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สงครามปะทุ

สงครามปะทุ



หน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ตีพิมพ์เรื่องการลอบปลงพระชนม์
ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่สงครามโลก



แท้จริงนับได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่ออสเตรีย-ฮังการี  ประกาศสงครามกับเซอร์เบียเมื่อวันที่ 26 กันยายน 1914 นั่นเอง
      
      ซึ่งเมื่อออสเตรีย-ฮังการียกทัพเพื่อเข้าโจมตีเซอร์เบียแล้ว ในวันต่อมารุสเซียก็ได้สั่งระดมพลเป็นบางส่วนมุ่งตรงมายังชายแดนของของจักรวรรดิของออสเตรีย-ฮังการี กลายเป็นการขยายวงการสงครามออกมาอีกขั้นหนึ่ง แทนที่จะเป็นเพียงสงครามระหว่างออสเตรีย-ฮังการี กับเซอร์เบีย ก็เริ่มกลายเป็นออสเตรีย-ฮังการี ต้องมารบกับรุสเซียอีกฝ่ายหนึ่งและเมื่อยับยั้งเหตุการณ์เอาไว้ไม่ได้แล้วเยอรมนีก็เลยต้องประกาศว่าการระดมพลของรุสเซียในครั้งนี้ย่อมหมายความว่ารุสเซียต้องการทำสงครามกับเยอรมนีเช่นกัน ทั้งนี้เพราะเยอรมนีมีพันธะตามข้อสัญญาอยู่กับออสเตรีย-ฮังการีเดิมอยู่แล้ว
      
      ดังนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม 1914 นั้นเองเยอรมนีก็ได้หันไปถามฝรั่งเศสซึ่งเวลานั้นก็ดูเหมือนจะเตรียมตัวและเยอรมนีก็รู้ดีว่าฝรั่งเศสในเวลานั้นมีความสัมพันธ์และเป้นกลุ่มเดียวกับรุสเซียอยู่ โดยถามกับฝรั่งเศสว่าฝรั่งเศสจะมีข้อเสนออะไรต่อสงครามที่เกิดขึ้นมาครั้งนี้บ้าง
    
      ฝรั่งเศสจึงประกาศอย่างท้าทายขึ้นมาทันใดว่า ฝรั่งเศสจะดำเนินการตามที่ฝรั่งเศสเห็นสมควร นั่นก็คือ การสั่งระดมพลเพื่อเตรียมช่วยเหลือรุสเซีย
      
      เมื่อเป็นเช่นนั้น เยอรมนีจึงไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยการประกาศทันทีว่าจะทำสงครามกับฝรั่งเศส โดยประกาศในวันที่ 3 สิงหาคม นั้นเอง
      
      อันที่จริงแล้วแม้จะประกาศสงครามในวันที่ 3 ก็ตาม แต่เยอรมนีที่ไม่ปล่อยเวลาให้ทันตั้งตัวได้ รีบยกพลเพื่อไปโจมตีฝรั่งเศสนับแต่วันก่อนหน้านั้นแล้ว 1 วัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบมากที่สุด เยอรมนีทำลายกำแพงแห่งปัญหาลงอีกขั้นโดยการยกพลในวันที่ 2 สิงหาคมเข้าไปยึดครองประเทศลักเซมเบิร์ก ซึ่งประกาศวางตัวเป็นกลางมาแต่แรก โดยไม่สนใจคำคัดค้านของผู้ครองเจ้านครเล็กๆ แห่งนี้ ไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่อีกประเทศหนึ่งที่เป็นกลาง นั้นคือเบลเยียม เยอรมนีก็รุกเข้าไปหวังครอบครองในวันที่ 2 ด้วยเช่นกัน เยอรมนีได้ยื่นคำขาด โดยให้เบลเยียมตอบภายใน 12 ชั่วโมงคือระหว่างหนึ่งทุ่มถึงหนึ่งโมงเช้าของวันรุ่งขึ้น ว่าเบลเยียมจะยอมอนุญาตให้เยอรมนีเดินทัพผ่านเพื่อไปโจมตีฝรั่งเศสหรือไม่
    
ทหารเยอรมนีกำลังเคลื่อนพลภายในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม 
      ในข้อเสนอและคำขาดที่ว่านั้นมีเงื่อนไขว่า ถ้าเบลเยียมยินยอม รัฐบาลเยอรมนีจะให้สัญญาว่าจะเคารพในเขตแดนและประชาชนชาวเบลเยียม แต่ถ้าปฏิเสธ เยอรมนีก็จะกระต่อเบลเยียมเยี่ยงศัตรู
    
      และแล้วคำตอบของเบลเยียมก็ได้รับคำชื่นชม โดยในครั้งนั้นคำตอบของเบลเยียมมีอย่างเด็ดเดี่ยวและเชื่อมั่นว่า ความเป็นกลางของเบลเยียมนั้นมีมหาอำนาจทั้งหลายรวมทั้งเยอรมนีด้วยเป็นผู้ค่ำประกัน ดังนั้นเบลเยียมไม่ยินยอมให้ผู้ใดละเมิดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะด้วยประการใด ๆ ก็ตาม
      
      ย้อนกลับมามองทางมหาอำนาจอย่างจักรวรรดิบริเทนใหญ่หรืออังกฤษกันบ้าง เมื่อสงครามปะทุแล้ว ในวันที่ 1 สิงหาคม เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงลอนดอนได้เข้าสอบถามรัฐบาลอังกฤษจะวางเป็นตัวเป็นกลางในสงครามครั้งนี้หรือไม่ แถมมีเงื่อนไขต่อมาอีกว่าหากอังกฤษประกาศเป็นกลางเยอรมนีก็จะยอมรับความเป็นกลางของเบลเยียมด้วย
     
      แต่ข้อเสนอนี้ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นถึงการแผ่บารมีของเยอรมนีที่อังกฤษหวาดระแวงอยู่แล้วมากเกินไป ดังนั้นไม่เพียงแต่ปฏิเสธข้อเสนอนั้นเท่านั้น ในวันที่ 2 สิงหาคม อังกฤษก็ได้ส่งสารถึงฝรั่งเศสโดยบอกและยืนยันว่ากองทัพเรือของอังกฤษจะเข้าช่วยเหลือและป้องกันฝรั่งเศสอย่างเต็มที่ถ้าหากว่าเรือรบของเยอรมนียกเข้ามาทางช่องแคบของอังกฤษหรือมาทางทะเลเหนือ
      
แผนที่แสดงที่ตัังของประเทศเบลเยียม เยอรมนี และฝรั่งเศส
      แล้วอีกสองวันรัฐบาลอังกฤษก็ได้ยื่นคำขาดถึงเยอรมนีในกรณีเยอรมนีกำลังจะรุกเข้าเบลเยียม โดยที่อัครมหาเสนนาบดีของเยอรมนีก็ได้ตอบกลับว่าเยอรมนีจำเป็นจะต้องเดินทัพผ่านเบลเยียม  ทั้งได้แจ้งผ่านอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเบอร์ลินอีกว่า อังกฤษไม่ควรเข้าร่วมสงครามเพียงเพราะ เศษกระดาษชิ้นนิดเดียว
     
      ซึ่งนั้นหมายถึงสัญญาค้ำประกันความเป็นกลางที่เคยทำขึ้นมาก่อนหน้านี้นั่นเอง การกล่าวอย่างดูหมิ่นต่อสัญญาที่ได้ทำขึ้นมาเช่นนี้ของเยอรมนีทำให้อังกฤษไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ทั้งนี้เพราะการไม่สนใจและยอมรับในสัญญาที่ตัวเองได้ทำขึ้นเองเช่นนั้นแสดงให้เห็นถึงการไร้คุณธรรมและไม่ถูกต้องตามคำนองคลองธรรม ภาพของเยอรมนีจึงเสื่อมลงในสายตาของชาวอังกฤษและประชาคมโลกบางส่วน
    
      ประชาชนชาวอังกฤษไม่พอใจการกระทำของเยอรมนี และให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ให้กระโดดเข้าร่วมสงครามโลกครั้งนี้ ดังนั้นในวันที่ 1 สิงหาคมรัฐบาลอังกฤษจึงได้ประกาศสงครามกับเยอรมนีขึ้นมาอีกประเทศหนึ่ง
     
      เรียกว่าอังกฤษประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งนี้แล้ว ก็นับได้ทันทีว่าบรรดาประเทศมหาอำนาจของโลกเวลานั้นได้เข้าตะลุมบอนกันในสงครามกันเกือบครบแล้ว บรรดาประเทศเล็กประเทศน้อยที่คอยจับตามองอยู่อย่างหวาดระแวงจำเป็นที่จะต้องเริ่มหันเข้าไปจับมือกับอีกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่ออย่างน้อยก็จะได้มีแนวร่วมในการป้องกันละส่งเสริมซึ่งกันและกัน
      
      มอนเตเนโกร ประเทศเล็กๆ อีกประเทศหนึ่งก็ได้ประกาศทำสงครามกับออสเตรีย-ฮังการี ขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม เป็นประเทศต่อมา
     
      สงครามกำลังลุกลามอย่างต่อเนื่องญี่ปุ่นซึ่งนับเป็นพันธมิตรกับอังกฤษตามสนธิสัญญาที่เคยลงร่วมกันเอาไว้ ก็ไม่อาจนิ่งเฉยมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานี้ได้เช่นกัน แม้จะอยู่ห่างไกลออกไปก็ตามที กระนั้นในเดือนพฤศจิกายน ต่อมาก็ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามกับอังกฤษรบกับเยอรมนีด้วย
     
      ความวุ่นวายที่กำลังดำเนินไปนี้ยังไม่มีทีท่าสิ้นสุดเมื่อจู่ๆ ตุรกีหรือจักรวรรดิออตโตมันก็ประกาศเข้าร่วมกับเยอรมนีเข้าทำสงครามอีกประเทศหนึ่ง
      
      กลายเป็นว่าถึงเวลานี้ กลุ่มเยอรมนี ก็มี เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และตุรกี เรียกกันว่าฝ่ายมหาอำนาจกลาง ขณะที่ฝ่ายอังกฤษ ฝรั่งเศส และรุสเซีย จะเรียกว่าฝ่ายสัมพันธมิตร
     
      เพียงชั่วระยะเวลาเพียง 3 เดือน สงครามครั้งนั้นที่มีฝ่ายมหาอำนาจกลางคือ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และตุรกี ต้องเข้าทำสงครามเผชิญหน้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรที่มี เซอร์เบีย รุสเซีย ฝรั่งเศส เบลเยียม อังกฤษ มอนเตเนโกร และญี่ปุ่น
    
      ซึ่งเวลานั้นอิตาลี แม้จะมีข้อผูกมัดและสัญญากับกลุ่มมหาอำนาจกลางอยู่ก็ตามแต่เมื่อเห็นว่ามหาอำนาจกลางมีตุรกีก็เข้าร่วมจึงประกาศขอวางตัวเป็นกลางไว้ก่อน โดยอ้างว่า ในข้อสัญญานั้นมีว่าอิตาลีจะเข้าร่วมหรือช่วยคู่สัญญาต่อเมื่อประเทศคู่สัญญาถูกรุกรานเข้ามาโจมตีต่างหากเท่านั้น แต่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ประเทศภาคีรุกเข้าไปโจมตีประเทศอื่น อิตาลีจึงเป็นอิสระอยู่ภายนอกเงื่อนไขของสัญญานั้น

       
      มาถึงเวลานี้ถือว่า ประเด็นแท้จริงของสงครามก็ได้แสดงตัวออกมาให้เห็นชัดเจนแล้วนั่นเองกล่าวคือหลังสามเดือนเมื่อประเทศต่างๆ กระโดดเข้าร่วมในสงครามแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เป็นจุดกำเนิดหรือเริ่มต้นระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับเซอร์เบีย ก็ค่อยๆ กลายเป็นเรื่องรองที่ถูกสนใจ การแข่งขันกันเป็นปฏิปักษ์ของกลุ่มมหาอำนาจต่างหากที่แสดงตัวให้เห็นอย่างชัดเจนหลังจากจุดชนวนขึ้นมา ซึ่งมองว่ากันว่าการที่เยอรมนีรีบยกทัพบุกเบลเยียมเพื่อเข้าโจมตีฝรั่งเศส และอังกฤษต่างหากที่ถือเป็นการรับผิดชอบที่สัมพันธมิตรจะต้องร่วมกันเข้าปราบปรามเยอรมนีที่ก่อสงครามแท้จริง ขณะที่ฝ่ายเยอรมนีหรือมหาอำนาจกลางนั้นกลับมองว่า การรุกของเยอรมนีและมิตรประเทศในครั้งนั้น เป็นการรบกับฝ่ายศัตรูที่มีเป้าหมายเพื่อทำลายล้างเยอรนีนั้นเอง---

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น